ลัด รวดเดียวถึง !

BIA-P.2.3.1/1-44

ลัด รวดเดียวถึง !

ลัด รวดเดียวถึง !

เอกสารชุดมองด้านใน อันดับ 44

ประกอบด้วยสองเรื่องคือ ลัด รวดเดียวถึง ! และ สักแต่ว่า...!

อารมณ์ต่างๆ ในโลกเป็นสิ่งอันตรายยิ่งกว่าเสือ แต่ไม่มีใครมองเห็นเช่นนั้น เพราะว่าอารมณ์เหล่านั้นทำอันตรายคนอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก และทั่วทุกตัวคนไม่ยกเว้นใครในบรรดาที่เป็นบุคคลธรรมดาสามัญ ส่วนเสือนั้นยังไม่ได้ทำอันตรายแก่ใครเลย นานทีปีหนึงจะมีสักครั้งหนึ่ง และก็เฉพาะในบางถิ่น เราพึงมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางอารมณ์ที่ไม่น่าเอาน่าเป็น อย่างที่เรียกว่าด้วยอุบายอันแยบคาย ซึ่งกล่าวได้ว่า มีชีวิตอยู่อย่างไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไรเลย หรือโดยสติปัญญาที่ทำให้เกิดการกระทำทางใจ อันเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ทางภายนอกก็ยังคงทำไปตามโลกสมมติ หรือกฎหมาย หรือตามที่ถูกที่ควรแก่สังคม ส่วนในทางภายในที่เป็นจิตใจส่วนลึกจริงๆ มันยังสงบเฉยอยู่ คือเท่ากับไม่ได้ทำไม่ได้เอา ไม่ได้เป็น ไม่ได้มี ไม่ได้ยึดครองสิ่งใด เพราะว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในการกระทำหรือผลของการกระทำที่เป็นภายนอกเหล่านั้นเลย ปล่อยให้จิตว่างจากการยึดถือจากการเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ให้ชีวิตถูกควบคุมอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างนี้ แล้วดำเนินประโยชน์กิจต่างๆ ไปด้วยอำนาจของสติปัญญานั้น

การปฏิบัติเพื่อความดับไปแห่ง ตัวกู-ของกู ในขณะที่เผชิญกับอารมณ์ โดยใจความอาศัยหลักพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระพาหิยะ ทารุจีริยะที่ว่า “เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักแต่ว่าเห็น ได้ฟังเสียงแล้วสักแต่ว่าฟัง ได้กลิ่นแล้วสักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้ม ได้รับสัมผัสทางผิวกายแล้ว ก็สักแต่ว่าสัมผัส ดังนี้แล้ว เมื่อนั้นเธอจักไม่มี เมื่อใดเธอไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ ไม่ปรากฎอยู่ในโลกอื่น และไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง” นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ให้การเห็นนั้นปรุงจนเกิดความรู้สึกรักหรือชัง หรือเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา เรียกสั้นๆ ว่า ไม่ให้ปรุงเป็นเวทนาขึ้นมา ให้เป็นสักแต่ว่าการเห็น แล้วก็หยุดไปหรือดับไป แล้วกลายรูปไปเป็นสติปัญญาเกิดขึ้นมาแทน ว่าจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร ก็ทำไปด้วยสติปัญญา ไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทานว่า ตัวกู สิ่งที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ มีอยู่ว่า “เห็นให้เพียงสักว่าเห็น” “ได้ยินเพียงสักว่าได้ยิน” มีความหมายเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกที่สุด คือได้เห็นหรือได้ยินเป็นต้น ก็ไม่เอาใจใส่ เพราะกำลังส่งใจไปที่อื่นหรืออยู่กับเรื่องอื่น อีกทางหนึ่งก็เป็นการเห็นหรือการได้ยินของพระอรหันต์ผู้หมดอาสวะแล้ว เมื่อเผชิญเข้ากับอารมณ์ เช่น รูปกระทบตาเป็นต้น ต้องมีสติสัมปชัญญะนำเอาความรู้เรื่องสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เข้ามาช่วยให้ทันท่วงที เมื่อมีสติสัมปชัญญะเกิดแล้ว อวิชชาก็จักไม่เกิดขึ้นปรุงแต่ง ตัวกูของกูก็ไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้น และตรงกันข้ามมีแต่จะซูบผอมหายไป เพราะอดอาหารทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ และขาดสูญสิ้นเชื้อไปในที่สุด เป็นการดับตัณหา อุปาทาน หมดทุกข์โดยประการทั้งปวง


- พิมพ์ครั้งที่ 1 [พ.ศ. 2514]

หน้า [1] - [40]

ซ้ำ 6 เล่ม


พ.ศ. 2514

Item

สิ่งพิมพ์บนกระดาษ ปกอ่อน จำนวน 40 หน้า

สติสัมปชัญญะ, ความยึดมั่นถือมั่น, อารมณ์